7. สายตาเอียงเหมือนกับตาเขไหม
สายตาเอียงกับสายตาเข ต่างกันมาก สายตาเอียง ( Astigmatism ) หมายถึงว่าความสั้น , ยาว ของสายตาในแนวตั้งและแนวนอน อาจเป็นสายตาสั้นเหมือนกัน หรือแนวหนึ่งเป็นสายตาสั้นอีกแนวหนึ่งเป็นสายตายาวก็ได้
ตาเข หมายความว่า จุดรวมของตา 2 ข้างนั้น ไม่ใช่จุดเดียวกัน คือ ในขณะที่ตาซ้ายมองอยู่ที่วัตถุอันหนึ่ง ตาขวาจะมองอยู่วัตถุหรือจุดอื่น เป็นต้น
8. สายตาสูงอายุหรือแว่นสายตาอ่านหนังสือทำไมต้องใส่
เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถของกล้ามเนื้อภายในลูกตา ( Ciliary Muscle ) จะลดน้อยลง และตัวแก้วตาแข็งตัวขึ้นเปลี่ยนรูปร่างให้นูนลำบาก ทำให้ไม่สามารถปรับสายตาให้ดูในระยะใกล้ ๆ หรืออ่านหนังสือได้ ในระยะนี้จำเป็นจะต้องใช้แว่นตาช่วยสำหรับอ่านหนังสือ โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว จะเริ่มใช้แว่นสำหรับอ่านหนังสือเมื่ออายุประมาณ 40 ปี นอกจากบางคนซึ่งเป็นสายตายาวมาก่อนอาจ ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ ก่อนที่จะถึงอายุ 40 ปีก็ได้
9. ใส่แว่นแล้วรู้สึกเมื่อยตา ตาเพลีย เป็นเพราะอะไร
สำหรับอาการที่เกิดขึ้นนี สาเหตุพบได้บ่อยที่สุด กำลังของแว่นตาไม่ตรงกับสายตา แว่นอาจแก่หรืออ่อนไปได้ หรือในคนที่สายตาสั้นมาก ๆ แล้วใส่แว่นสายตาสั้นอ่านหนังสือ ก็อาจจะเกิดอาการแบบนี้ได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากจุดศูนย์กลางของกระจกตาไม่ตรงกับจุดศูนย์กลางของลูกตา สำคัญมากในกรณีผู้ใช้สายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ เพราะทำให้เกิด Prismatic Effect คือคล้ายเรามองผ่านกระจกพริสม์ ซึ่งจะทำให้การหักเหผิดไปเกิดเป็นแฉกเป็นรุ้ง ซึ่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อตาเมื่อยล้า บางคนอาจจะมาบอกเล่าว่าใช้แว่นแล้วรู้สึกตาเหล่ ๆ หรือเข เป็นต้น ผู้ใช้แว่นบางคนมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อตาไม่ปรกติอยู่ด้วย ดังนั้นในการให้คำสั่งของแว่นสายตาต้องพิจารณาถึงเรื่องกล้ามเนื้อตาว่าเป็นอยู่ในลักษณะไหนด้วย
10. เปลี่ยนแว่นตาคู่ใหม่มาแล้วใส่ไม่ได้ เวียนหัว เดินไม่ได้
สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดสำหรับอาการแบบนี้คือ คนใช้มีตาเอียงมากอยู่แล้ว แต่แว่นอันอ่อน ๆ ไม่ได้แก้ตาเอียง ( คือไม่มี Cylinder ) หรือมีอยู่แต่แก้ไขไม่หมด เมื่อมาใส่แว่นอันใหม่ที่ใส่แก้ตาเอียงเต็มที่ ก็จะมีอาการดังกล่าว นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่า แว่นที่แก้ตาเอียงเต็มที่นี้มองเห็นได้ชัดเจนว่าในกรณีที่มองตรง ๆ แต่ถ้าหันไปมาจะเกิดอาการเวียนหัว ส่วนแว่นที่ไม่ได้แก้ตาเอียงนั้นเมื่อมองตรง ๆ จะเห็นได้ไม่ชัดเท่าที่ควร แต่เวลาเดินหรือมองข้าง ๆ จะไม่มีภาพเวียนหัว นอกจากสายตาเอียงแล้ว ความโค้งของเลนส์หรือเนื้อ ( Base Curve ) ของกระจกแว่นสำคัญมาก กล่าวคือถ้าผู้ใช้เคยใช้แว่นที่มีความโค้งน้อยอยู่ก่อนมาใส่อันใหม่ ซึ่งมีความโค้งมากกว่าจะ
ทำให้เกิดภาพไม่สบายตา เช่น เกิดการบิดเบี้ยว ( Aberration ) ขึ้นเช่น เห็นโค้งหรือนูนขึ้น ลักษณะของแว่นใหม่เวลาใส่บนใบหน้า อาจผิดจากแว่นเก่าก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทำให้ใส่แว่นใหม่ไม่ได้ เช่นเคยใส่แว่นโค้งมาก ซึ่งผิดลักษณะของแว่นที่ถูกต้องมานาน พอใส่แว่นลักษณะดี จะกลับรู้สึกไม่สบาย แบบนี้ต้องให้ค่อย ๆ หัดใส่ ไม่ใช่ดัดแว่นให้โค้งมากเหมือนเก่า มิฉะนั้น เราจะใส่แว่นผิดลักษณะไปตลอดชีวิต ควรจะค่อย ๆ ลดความโค้งพร้อมทั้งอธิบายให้ผู้ใส่เข้าใจและอดทนต่อแว่นใหม่ ในระยะแรก ๆ นอกจากความโค้งแล้ว แว่นอาจจะเบี้ยวเวลาใส่บนหน้า คือกระจกข้างหนึ่งชิดตากว่าอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดความไม่สบายตาได้มากเป็นต้น เนื้อของเลนส์เช่นกัน เปรียบดูคล้าย ๆ เนื้อผ้า ผ้าอาจสีขาวเหมือนกัน แต่การที่เขาถักทอมาคนละอย่าง ผ้าจึงมีเนื้อคนละอย่าง เนื้อผ้าผิดไปเรามาใส่ก็จะรู้สึกผิดไปจากเดิม ฉะนั้นบางคราวจักษุแพทย์หรือผู้เปลี่ยนแว่นเขา จะพยายามหาเนื้อความโค้งให้เหมือนคู่เก่ามากที่สุด
11. สายตาผิดปกติอยู่แล้วพออายุ 40 ปีอ่านหนังสือยาก ควรตัดแว่นสองชั้นหรือมีแว่นสองอัน
การจะเลือกใช้แว่น 2 ชั้น ( Bifocal ) หรือแว่นตา 2 อันนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรืออาชีพของผู้ใช้ ข้อดีของแว่นสองชั้น คือ สะดวก ไม่จำเป็นต้องถอด ๆ ใส่ ๆ ใส่ได้ประจำเลย จะดูไกลหรือดูใกล้ก็ได้ แต่ข้อเสีย คือเวลาใส่ใหม่ ๆ จะลำบาก และมีอาการมึนงงเล็กน้อยเวลาเปลี่ยนตาดูไกลมาดูใกล้ สำหรับแว่นตา 2 อันนั้นดีมาก สำหรับการมองเห็น สบายตาดีทั้งเวลาดูไกลและอ่านหนังสือ แต่ไม่สะดวกเพราะต้องพกแว่นครั้งละ 2 อัน และต้องใส่ ๆ ถอด ๆ ประจำ