ผู้อ่านคงได้ผ่านการตรวจสอบแบบนี้มาแล้ว คือใช้เลนส์ขนาดกำลังต่างๆ กันให้คนไข้ลองสวมทีละอัน แล้วให้อ่านอักษรตามแบบแผนทดสอบสายตา จนอ่านได้ถึงตัวอักษรเล็กพอสมควร คือระดับ 6/6 หรือ 6/5 สำหรับสายตาสั้นก็จะใช้เลนส์เว้าหรือที่เรียกว่าเลนส์ลบค่อยๆ เพิ่มกำลังเข้าไปจนกระทั่งอ่านได้ตัวอักษรที่เล็กที่สุด สำหรับสายตาสั้นนี้ให้ถือเอาชนิดของเลนส์เว้าที่เบาที่สุดเป็นขนาดของสายตาสั้นของเขา ส่วนสายตายาวก็กลับกัน คือให้ถืออันที่หนาที่สุดเป็นกำลังที่จะแก้เขา
ในการวัดแบบนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการเลือกเลนส์โดยผู้ถูกตรวจเป็นผู้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการเห็นตัวอักษรแผ่นทดสอบสายตาที่ชัดที่สุดจึงเรียกว่า Subjective method คือวิธีให้เขาเป็นผู้ตัดสิน การตรวจแบบนี้ต้องระมัดระวังสำหรับสายตาเพราะมักจะให้เลนส์หนาเกินไป
อีกประการหนึ่งผู้อ่านคงจำได้ดีว่า การตรวจแบบนี้เป็นการตรวจโดยอาศัยความสามารถของแต่ละบุคคลที่ถูกตรวจ ซึ่งแตกต่างกันไป และต้องอาศัยระดับสมองด้วยนอกจากนี้ ขนาดของรูม่านตา การเพ่งก็เกี่ยวข้องด้วยและยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้สายตาของตาเปลี่ยนไป การวัดวิธีนี้จึงให้ผลไม่แน่นอน
การวัดสายตาแบบที่ใช้ผู้ตรวจเป็นผู้ตัดสิน
การตรวจวัดสายตาแบบแรก อาศัยผู้ถูกวัดเป็นผู้ตัดสินนั้น ไม่สามารถจะใช้กับเด็กเล็ก หรือในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยนอนอยู่กับเตียง จำเป็นต้องมีวิธีอีกแบบหนึ่งเรียกว่า Objective Method เพราะแบบนี้สั้นมากน้อยหรือยาวมากน้อย ต้องอาศัยผู้ตรวจเป็นผู้ตัดสินโดยไม่ต้องไต่ถามถึงความคิดเห็นของผู้ตรวจเลย เราใช้เครื่องมือพิเศษส่องเข้าในตา แล้วดูแสงที่สะท้อนออกมาแล้วสังเกตการณ์ เคลื่อนไหวของแสงที่เข้าไปและสะท้อนออกมา เครื่องมือนี้และการทำแบบนี้เรียกว่าเป็นการวัดจุดไกลของตาอันนั้นโดยเครื่องมือพิเศษ เรียกว่า Retinoscope
ตามรูป ก. ถ้าหากคนนั้นเป็นคนสายตาปกติ แสงขนาน ( หรือแสงที่มาจาก ที่ไกลที่สุด) จะตกลงบนจุดเหลืองพอดี และตามกฎของแสง แสงมาจากไหนก็กลับทางนั้น จึงพบว่าถ้าส่งแสงขนานเข้าในตาปกติ มันจะตกที่จุดเหลืองของตา แล้วสะท้อนกับมาเป็นแสงขนานอีก ถ้าเราส่องแสงขนานมาจากทิศต่างๆ มันก็สะท้อนขานนออกมาอีก ถ้าเราจับตาดูแสงสะท้อนอันนี้ก็ดุเหมือนกับว่ามันไม่มีการเคลื่อนไหว
ตามรูป ข. ถ้าเราส่องแสงขนานเข้าไปในตาคนสายตาสั้น มันจะไปรวมกันก่อนถึงจุดเหลืองหรือข่ายประสาทตา แสงที่สะท้อนกลับมา ก็มีทิศทางกลับไป ถ้าส่องมาจากทางซ้ายแสงสะท้อนกลับมาเป็นทางขวาเป็นต้น
ตามรูป ค. ถ้าเราส่องแสงขนานเข้าไปในคนสายตายาว แสงจะไปตัดกันที่หลังลูกตา (ซึ่งเรามองไม่เห็น) แต่ก่อนที่จะไปตัดมันจะกระทบข่ายประสาทตาเสียก่อน แล้วสะท้อนกลับแสงที่สะท้อนกลับนี้จะสะท้อนออกมาตามแนวเดียวกับที่ส่องเข้าไป ถ้าเราส่องจากซ้ายไปขวาแสงที่สะท้อนออกมาก็จะเคลื่อนจากซ้ายไปขวา ไม่กลับกันเหมือนคนสายตาสั้น
ฉะนั้นเราอาจส่องแสงนี้ตามแนวดิ่ง หรืแนวนอนหรือเฉียงๆ ดูว่าแนวนั้นๆ มีสายตายาวสั้นเอียงเท่าไร ถ้าเท่ากันตลอดก็เป็นสายตาสั้นหรือยาวธรรมดา ถ้าไม่เท่ากัน ก็แสดงว่ามีสายตาเอียงร่วมอยู่ด้วย สายตาสั้นหรือสายตายาวอาจมีสาตาเอียงร่วมด้วยก็ได้ และโดยการตรวจด้วยแบบแรกสายตาของผู้ป่วย ไม่ดีขึ้นอีกทั้งๆ ที่แก้ด้วยเลนส์ชนิดต่างๆ ก็แสดงว่าเป็นสายตาเอียง ซึ่งอาจต้องใช้เลนส์ชนิดไซลิตเดอร์แก้อีกจนอ่านได้เล็กที่สุด ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินเรื่องการวัดสายตาโดยเครื่องคอมพิวเตอร์มาแล้วไม่มากก็น้อย และเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงไม่แน่ใจว่าคืออะไร เครื่องวัดสายตาโดยระบบคอมพิวเตอร์นั้นแบ่งออกได้เป็นสองแบบเช่นเดียวกับการวัดธรรมดา คือแบบที่ผู้ใช้ถูกวัดเป็นผู้ตัดสิน ( Subjective method ) อาจมีชื่อใหม่ว่า Visual Analyser อีกแบบเป็นแบบผู้วัดเป็นคนตัดสิน ( Objective method ) ความเที่ยงตรงของทั้งสองอย่างก็
 |
เหมือนกับการวัดธรรมดาเพียงแต่ว่าเครื่องวัดแบบนี้จะมีเครื่องรวบรวมข้อมูล คิดคำนวณออกมาเป็นตัวเลขแทนสมองของคนเรา คือแทนที่ผู้ตรวจจะต้องคิดว่าคนไข้ตอบอย่างนี้จะต้องแก้อย่างไร หรือส่องแสงเข้าไปแล้วเห็นภาพออกมาแบบนี้เป็นสายตาผิดปกติแบบไหน แก้ด้วยแว่นอะไร สิ่งดีของเครื่องนี้จะคำนวณออกมาให้เสร็จ สิ่งดีของเครื่องก็เพียงแค่ประหยัดเวลา แต่ในความเที่ยงตรงเหมาะสมแล้วคนวัดที่มีความรู้ความชำนาญยังดีกว่าและเที่ยงตรงกว่ามาก
การวัดสายตาหลังจากขยายม่านตา
ผู้ป่วยคงจำได้ว่า คนปกติมีการเพ่งระยะ ( Accommodation ) อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน และการใช้การเพ่งระยะนี้ก็เป็นการเพิ่มกำลังหักเหของตาเป็นชั่วคราวแสดงว่าระบบการหักเหของตาทั้งหมด มีความโน้มเอียง ไปทางเพิ่มกำลังหักเหเองแต่อยู่นานเข้าคนสายตาสั้นก็จะมีความสั้นมากกว่าความเป็นจริง ส่วนสายตายาวดูคล้ายยาวน้อยกว่าความเป็นจริงจึงจำเป็นในบางกรณีที่จะต้องใช้บางอย่างไปลบล้าง การเพ่งระยะอันนี้เพื่อให้ระบบการหักล้างมาสู่ความเป็นจริง เมื่อใช้ยาชนิดนี้รูม่านตาจะขยายใหญ่ชั่วระยะหนึ่งการวัดแบบนี้จึงได้ค่าที่เที่ยงตรงที่สุด และจำเป็นอย่างยิ่งในคนอายุน้อยที่มีกำลังเพ่งมากและใช้บ่อย เช่นเด็กอายุน้อยและสำหรับคนเป็นสายตายาวซึ่งบางส่วนของสายตายาวจะแก้ไขไว้ด้วยการเพ่งนี้ สำหรับผู้ที่คิดจะประกอบแว่นตาเป็นครั้งแรกในชีวิตควรจะรับการตรวจวัดสายตาแบบนี้เพื่อจะได้รู้ว่าเขาผิดปกติไปจากปกติจริงเท่าไร
นอกจากการใช้ยาชนิดนี้แล้ว การวัดสายตานั้นต้องใช้วิธี Subjective และ Objective คู่กันไปเพื่อคอยควบคุมการตรวจให้ใกล้ความจริงที่สุด เพราะถ้าผิดไปผลร้ายจะเกิดภายหลังเช่นปวดตา ปวดหัว เวียนหัว เพราะแว่นแก่เกินไป หรืออ่อนเกินไป ให้ไม่ถูกหลักเป็นสิ่งที่พบเป็นประจำ ถ้าผู้นั้นเพียงแต่ไปประกอบแว่นตาตามร้าน ที่ไม่มีผู้ทรงคุณวุติทางนี้มาวัดให้ท่าน
หน่วยเลนส์สำหรับแว่นตา
เลนส์ซึ่งใช้ประกอบแว่นตานั้นมีหน่วยเรียกว่า ระบบ Diopter เช่นเลนส์ 200 ก็หมายความว่า 2 Diopter เขียนย่อว่า 2 D ถ้าเลนส์สำหรับสายตาสั้นเป็นเลนส์เว้าก็เป็นเลนส์ลบ ส่วนสายตายาวก็เป็นชนิดนูน I D = I Diopte คือ รังสีแสงขนานจะมารวมกันที่ 1 เมตร ที่เมื่อตัวเลข D มากขึ้น เลนส์ก็หนาขึ้นตามลำดับ และระยะทางที่แสงมารวมกันก็สั้นเข้ามา
สายตาสั้น
คำว่าสายตาสั้นนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Near Sighted หรือ Myforpia แปลว่าดูใกล้ชัดเป็นตาที่มองเห็นชัดแต่ในระยะใกล้ๆ ดูระยะไกลไม่ชัด ทั้งนี้ผู้อ่านเข้าใจกันมาแล้วว่า สายตาสั้นเกิดจากกำลังหักเหของตาทั้งหมด ซึ่งเป็นผลบวกระหว่างกำลังหักเหของกระจกตาดำกับแก้วตาสองอย่างมากเกินไป กว่าระยะทางถึงจุดเหลือง วิธีแก้ก็ได้แก่การลดกำลังหักเหให้น้อยลง ซึ่งทำได้โดยการเอาเลนส์เว้า ซึ่งเป็นเลนส์กำลังลบไปไว้ข้างหน้ากระจกตาดำ
สาเหตุของสายตาสั้น
สายตาสั้นเกิดขึ้นอย่างไรนั้นมีการศึกษากันมามาก และผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่สนใจกับเรื่องนี้จึงศึกษาค้นคว้ามาเป็นระยะเวลานานในชนชาติต่างๆ ทราบกันทั่วไปว่าชนชาติญี่ปุ่นและจีนมีสายตาสั้นมาก แต่ในชาวยุโรป คนสายตายาวมากกว่า ซึ่งเนื่องมาจากความแตกต่างในเชื้อชาติ สาเหตุของการเกิดสายตาสั้นนั้นอธิบายได้ว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ ชนิดนี้ถือว่าเป็นการผิดปกติตามการสืบสายต่อกันมา คือ สายตาสั้นชนิดร้ายซึ่งถือกันว่าเป็นกันมาตั้งแต่เกิด
สายตาสั้นชนิดนี้เป็นเนื่องมาจากกรรมพันธุ์ชัดเจน และเป็นมาแต่วัยเด็กๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ มักเป็นมากขึ้นกว่า 10D 15D คือสั้นเป็นพันขึ้นไปเป็นต้น ในที่สุดไม่สามารถจะสวมแว่นตาได้เต็มที่ เพราะเลนส์หนาขึ้นมาก จำเป็นต้องใช้แว่นตาที่อ่อนกว่าที่ควรและถึงแม้ว่าจะใช้แว่นตาก็ไม่ช่วยให้สายตาดีขึ้นเท่าคนปกติ หรือเท่าคนสายตาสั้นชนิดดี เพราะประสาทตาไม่ค่อยดีในคนสายตาสั้นชนิดนี้พบว่าลูกตายาวออกไปในทิศหน้าหลังยาวออกเรื่อยๆ ระบบการหักเหจึงกลายเป็น Axial Myopia คือลูกตายื่นออกไปเรื่อยๆ ความยาวตามแนวความลึกมากออกไปทุกที ผ จะกล่าวละเอียดอีก )
ส่วนสายตาสั้นส่วนใหญ่ที่เราพบกันอยู่ทุกวันนี้ บางครั้งเรียกว่าสายตาสั้นโรงเรียนหรือสายตาสั้นชนิดดี เพราะดูคล้ายกับว่าเริ่มเป็นเมื่อวัยเริ่มเล่าเรียน และเป็นมากขึ้นในระหว่างเล่าเรียนอยู่ แต่ก็ไม่มากเท่าสายตาสั้นชนิดแรก จึงทำให้คนสายตาสั้นชนิดหลังนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าคงเนื่องมาจากใช้สายตา มีเหตุผลหลายประการดูคล้ายสนับสนุนความคิดอันนี้ เช่นสายตาสั้นชนิดพบเมื่อเข้าโรงเรียนแล้วพบในนักเรียนส่วนใหญ่ระหว่างเล่าเรียน ดูแล้วเหมือนกับว่ามีมากตามชั้นสูงๆ ขึ้นไปเป็นต้น แต่จากการศึกษากันมาคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกัน
การค้นคว้าสาเหตุของสายตาสั้นชนิดนี้มีหลายแบบ แบบหนึ่งซึ่งผู้เขียนได้ใช้ ได้แก่การศึกษาแต่ละส่วนของระบบการหักเหของตาว่าส่วนไหนผิดปกติไป เช่นกระจกตาดำแก้วตาหรือความยาวของลูกตาเป็นต้น แล้ววัดคุณสมบัติทางวิชาการแสงออกมาพิจารณาดู วิธีนี้เรียกว่า Measurement of Optical Components of The Eye ตามปกติในร่างกายมนุษย์เรานี้มีหลายส่วนซึ่งสามารถวัดขนาดของมันออกมาได้เป็นตัวเลข เช่นส่วนสูง น้ำหนักตัว เป็นต้น ค่าเหล่านี้ย่อมมีค่า Mean ค่า Mode ค่า Standard Deviation เป็นต้น ผลที่ออกมาเป็นตัวเลขของส่วนต่างๆ ของร่างกายก็มักมี Polygene ( มีการควบคุมทางพันธุศาสตร์หลายอัน ) เป็นปัจจัยควบคุมในแง่ของกรรมพันธุ์ เห็นได้ว่าค่าเหล่านี้มักแสดงเป็นเส้นโค้งซึ่งเป็น Normal Distribution ( อยู่ในเกณฑ์ปกติ ) สำหรับผู้ใหญ่ถ้ามีส่วนสูง 160 ซ.ม. กับ 170 ซ.ม. ก็เป็นปกติ และค่าเฉลี่ยอาจเป็น 165 ซ.ม. ก็ได้ดังนั้นบอกได้แต่ว่า คนสูง 160 หรือคนสูง 170 ซ.ม. ก็มีความสูงปกติ ถือว่าไม่สูงไปหรือเตี้ยไป แต่ถ้าใครคนหนึ่งมีความสูง 155 ซ.ม. อาจเรียกผิดปกติเล็กน้อย คือต่ำกว่าปกติก็ได้ ทำนองเดียวกัน คนส่วนสูง 175 ซึ่งอาจจะถือว่าสูงไปก็ได้
การวัดสายตาในกลุ่มชนจำนวนมากๆ เช่นในชั้นจำนวน 50 คน ของนักเรียนก็เช่นเดียวกันระบบหักเหของกลุ่มหนึ่งๆ ย่อมมี Distribution คล้าย Normal Curve คนส่วนใหญ่เป็นสายตาปกติคนส่วนหนึ่งอาจยาว แต่อีกส่วนหนึ่งอาจสั้น
ถ้ามาวัดในกลุ่มของเด็กทารกเกิดใหม่พบว่ายอดของเส้นโค้งนี้อยู่ที่ +2D แสดงว่าส่วนใหญ่เป็นสายตายาว เด็กน้อยคนเป็นสายตาสั้น เป็นเช่นนี้อยู่หลายปีต่อมา Optical Components ของตากล่าวคือ กระจกตาลูกตาดำ ความยาวของลูกตาเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปแต่การเปลี่ยนแปลงนี้มันขึ้นอยู่ในวงเขตอันหนึ่ง ซึ่งต่างก็คอยควบคุมต่อกันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นผลให้เป็นสายตาปกติไปตามธรรมชาติ
มาพิจารณาเส้นโค้งในกลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ยอดสูงสุดของเส้นโค้งจะเลื่อนจากทางด้านบวก มาทางลบและในที่สุดมาทับอยู่ที่จุดกลาง คือสายตาปกติแต่ก็อาจมีบางส่วนที่ผิดไป ซึ่งไม่ผิดแผกไปกว่าค่าปกติมากนัก เป็น ไปตามกฎของ Normal variation ทางชีววิทยาซึ่งหมายความว่า สายตาสั้นแบบนี้ไม่ใช้เป็นโรคพิการแต่อย่างใด แต่เป็นการผิดปกติในรูปร่างสังขารของร่างกายที่อาจเป็นได้ตามธรรมชาติเหมือนกับคนตัวสูงใหญ่หรือต่ำกว่าคนอื่นบ้างนิดหน่อย
แต่เมื่ออายุมากขึ้นสายตาสั้นชนิดนี้ก็มีมากขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่เป็นประมาณ -3.00D พออายุได้ 20 ปี ก็จะหยุดไม่เป็นมากขึ้นอีกต่อไป และราวอายุ 40 ปี กว่าๆ จะกลับลดลงกลับไปทางด้านบวกอีกครั้งหนึ่ง ผู้อ่านจึงเข้าใจว่า สายตาสั้น ซึ่งเรามักเป็นกันอยู่นั้นไม่ควรจะคิดไปว่าเป็นโรคพิการร้ายแรง หรือเป็นปมด้อยอย่างสาหัสแต่อย่างไรอย่าคิดไปว่าเป็นผลเนื่องมาจากการใช้สายตาหรือใช้สายตาไม่ถูกต้องตามวิธี หรืออาจเกิดจากการสวมใส่แว่นตาเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ไม่ทำให้การผิดปกติของสายตา เป็นมากขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป เว้นเสียแต่แว่นตาที่ใช้นั้นไม่ถูกต้องตามระบบการหักเหของตานั้นที่เป็นผลทำให้เสียสายตาได้
สำหรับชนชาติไทย ในระบบสายตาพบว่ามีสายตาสั้นน้อยกว่าชนชาติเอเชียอื่นๆ ผลงานของผู้เขียนที่ค้นคว้ากับเยาวชนในภาคอีสานในปี 2511 แสดงให้เห็นว่าสายตาส่วนใหญ่เป็นปกติในอายุ 12-18 ปี ในระยะนี้พบว่าชนชาติญี่ปุ่นสายตาสั้นประมาณ -1.0 , -1.5D ส่วนใหญ่สายปกติคิดเฉลี่ยแล้ว
ผู้เขียนศึกษาต่อไปพบว่าในเด็กไทยวัยนี้พบ ว่าลูกตายาวพอกันกับชาติอื่น แต่พบว่ากระจกตาดำของเด็กไทยโค้งมากว่า ซึ่งเป็นผลให้สายตาสั้นแต่แก้วตาของเขาโค้งน้อยลงซึ่งในคนปกติจะทำให้เป็นตายาว แต่เนื่องจากกระจกตาดำโค้งมากมาเจอกับกระจกตาโค้งน้อยจึงบวกลบกัน ทำให้เด็กส่วนใหญ่มีสายตาปกติได้ นับว่าเป็นเรื่องโชคดีสำหรับคนไทยเราในการศึกษากับเด็กนักเรียนที่อำเภอบางปะอินก็เช่นเดียวกัน พบว่าเด็กส่วนใหญ่เป็นสายตายาว
สมาคมสงเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย